ธนาคาร กรุงไทย มองสภาพการณ์ของ เศรษฐกิจไทย ภายในปี 2564 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5% แต่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ศูนย์วิจัยธนาคาร กรุงไทย ประเมิน เศรษฐกิจไทย พ้นจากภาวะถดถอยในปี 2564 โดยจะขยายตัว 2.5% แต่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คาดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 จำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศตลอดไตรมาสแรกโดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว เป็นเหตุให้รัฐต้องมีมาตรการเยียวยาโควิดรอบสอง
ส่วนภาคการส่งออกกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกัน แนะธุรกิจเตรียมเผชิญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวที่ระดับ 2.5% พ้นจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัว 6.5% โดยแม้ว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 จะกระทบการใช้จ่ายของภาคเอกชนอย่างมากในขณะนี้โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
แต่หากมาตรการที่ใช้อยู่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายใน 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคน-ครั้ง แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 91.2 ล้านคน-ครั้ง นอกจากนี้ การเยียวยาโควิดรอบสองของรัฐที่ออกมาจะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบ
“การแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาทจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่กดดันเศรษฐกิจอยู่ เช่น การขาดแคลนตู้สินค้าในการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท และภาวะแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีจะได้รับอานิสงส์จากวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก เช่น กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีนที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก
อัปเดตข่าว มาตรการเยียวยาโควิด จากกระทรวงการคลัง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการ คลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับผลกระทบจาก คำสั่งปิด สถานที่ภายใน พื้นที่เสี่ยง ต่าง ๆ แต่กลับไม่มี มาตรการเยียวยา จากรัฐบาลที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว
กระทรวงการคลังขอเรียนชี้แจงว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 28 จังหวัด นั้น เป็นการบริหารจัดการเพื่อควบคุมการระบาดและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยได้มีการยกระดับมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรค เช่น การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ การปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และการขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นต้น
โดยเป็นแนวทางในการดูแลสาธารณสุขที่เพียงพอและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังที่พร้อมจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป
โฆษกกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ภาครัฐมีแหล่งเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท และเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป
Credit : ที่เที่ยวญี่ปุ่น | จัดอันดับต่างๆ | รีวิวของแบรนเนม | วิธีการลงทุนต่าง